‘ณัฐวุฒิ’ เผย ‘โอกาสมีคุณค่าสำหรับทุกชีวิต’ หากศาลมีแนวทางให้ ‘เดียร์ รวิสรา’ ได้ไปเรียนต่อที่เยอรมัน จะเป็นการดี

‘ณัฐวุฒิ’ เผย ‘โอกาสมีคุณค่าสำหรับทุกชีวิต’ หากศาลมีแนวทางให้ ‘เดียร์ รวิสรา’ ได้ไปเรียนต่อที่เยอรมัน จะเป็นการดี ชี้ จะได้ช่วยประคับประคองสังคมต่อไปได้


ตามที่ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ยกคำร้อง การขออนุญาตออกนอกราชอาณาจักร ของ รวิสรา เอกสกุล บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในจำเลยคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ซึ่งถูกสั่งฟ้องในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 ในชั้นนีจึงยังไม่มีบุคคลที่เหมาะสมมีคุณสมบัติตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้ง และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราว…พ.ศ. 2561 ในอันที่จะกำกับดูแล หรือให้คำปรึกษา หรือคอยกำชับ หรือตักเตือนให้ผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด และป้องกันการหลบหนีของจำเลยที่ 11 ในระหว่างที่จำเลยที่ 11 จะเดินทางไปศึกษาและพักอาศัยอยู่ที่ประเทศเยอรมนี จึงยังไม่มีเหตุสมควรเพียงพอที่จะอนุญาตให้จำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ตามที่จำเลยที่ 11 ร้องขอ นั้น
.
ด้าน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. และ แกนนำเครือข่ายไล่ประยุทธ์ อ.ห.ต. ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น ต่อกรณี ดังกล่าวว่า ผมไม่รู้จัก รวิสรา เอกสกุล “เดียร์” จำเลยจากการอ่านแถลงการณ์หน้าสถานฑูตเยอรมันเป็นการส่วนตัว กิจกรรมที่เธอไปทำเป็นช่วงผมอยู่ในเรือนจำ ทราบแต่ข่าวจากเพื่อนมิตรที่ไปเยี่ยม

มาอ่านเรื่องของเธอที่พยายามยื่นคำร้องต่อศาล ขอเดินทางไปศึกษาต่อเพราะได้ทุนที่เยอรมัน แต่ละครั้งศาลมีเงื่อนไขขอเอกสารหลักฐาน หนังสือรับรองต่างๆ “เดียร์”กับครอบครัวและผู้เกี่ยวข้องเพียรหามายื่น จนล่าสุดเป็นครั้งที่ 6 ศาลยังคงไม่อนุญาต ระบุเหตุผลว่าคุณสมบัติผู้กำกับดูแลไม่เป็นไปตามระเบียบศาล

ไม่ทราบว่าศาลมีเหตุอื่นในการพิจารณาหรือไม่ แต่ส่วนตัวผมไม่มีเจตนาอื่น เพียงสงสารเด็กที่โอกาสซึ่งยากจะได้รับกำลังจะหลุดลอยไป ถึงจะไม่ทราบรายละเอียดหลักสูตรหรือหลักการของทุนนี้ แต่นึกภาพแม่ดีใจตอนผมได้ไปแข่งโต้คารมมัธยมศึกษา แล้วน้ำตาคลอเมื่อรู้ว่าชนะโรงเรียนดังๆในกรุงเทพฯกลับมา ผมว่าหัวอกคนเป็นพ่อแม่ของ”เดียร์”กับโอกาสของลูกคงไม่ต่างกัน

แม้การพิจารณาจะเป็นอำนาจศาล แต่ในสถานการณ์แหลมคมของยุคสมัย การใช้ดุลยพินิจของศาลจะมีส่วนช่วยประคับประคองสังคมได้

ตัวอย่างการกำหนดเงื่อนไขของแกนนำนักศึกษาหลายคน ทั้งติดกำไล ระบุเวลาห้ามออกจากบ้าน ฯลฯ คือเรื่องใหม่ที่คนเคยคุกเคยศาลอย่างผมไม่เคยเห็น แม้อยากให้น้องๆได้อิสรภาพเต็มใบ แต่ยอมรับว่าเป็นนวัตกรรมของกระบวนการยุติธรรม ลดแรงเสียดทานระหว่างเรี่ยวแรงแห่งอดีตกับพลังแห่งอนาคตอย่างน่าสนใจ

กรณีของ”เดียร์”ถ้ามีแนวพิจารณาที่รักษาโอกาสเรียนต่อของเด็ก เช่น กำหนดพื้นที่กำหนดเวลาการใช้ชีวิต รายงานตัวออนไลน์ หรืออื่นๆ เชื่อว่าทุกฝ่ายน่าจะยอมรับได้ ผู้พิพากษาลูกชาวบ้านหลานชาวนาก็มีมาก คำว่าโอกาสมีคุณค่าสำหรับชีวิตอย่างไรท่านย่อมทราบ

มิพักต้องกล่าวเรื่องคนรุ่นเราจะส่งต่ออนาคตให้เด็กรุ่นนี้อย่างไร เพียงรักษาปัจจุบันที่งดงามให้พวกเขาได้บ้าง ทำได้ก็ควรทำนะครับ

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ